เหตุผล ทำไมต้องใช้ทั้ง Kubernetes และ Cloud Foundry ร่วมกัน

17 เม.ย. 2561

Container เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปัจจุบัน ผลสำรวจของ 451 Research คาดการณ์ว่า ตลาด Application Container จะโตขึ้นจาก $762 ล้านในปี 2016 ไปเป็น $2,700 ล้านภายในปี 2020 ซึ่งหนึ่งในโปรเจ็กต์ Container ที่หลายองค์กรให้ความสนใจ ณ ตอนนี้คงหนีไม่พ้น Kubernetes และ Cloud Foundry

นักพัฒนาหลายคนอาจมองว่า เครื่องมือทั้งสองเป็นคู่แข่งกัน ควรเลือกใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ Jeff Hobbs ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ SUSE กลับมองว่า Kubernetes และ Cloud Foundry จะช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากเครื่องมือหนึ่งอาจมีฟีเจอร์ที่อีกเครื่องมือไม่มี ส่งผลให้นักพัฒนาและผู้ดูแลระบบสามารถบริหารจัดการแอปพลิเคชันบนระบบ Cloud ได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ในขณะที่ [Kubernetes และ Cloud Foundry] มีบางฟังก์ชันที่ทำงานทับซ้อนกัน ทั้งคู่ต่างเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยการใช้ประโยชน์จากโปรเจกต์ทั้งสอง องค์กรสามารถทำให้การบริหารจัดการจัดการสภาพแวดล้อมบนระบบ Cloud ทั้งหมดง่ายยิ่งขึ้นได้” — Hobbs ระบุใน Blog

Hobbs ยังให้เหตุผล 3 ประการเพื่อสนับสนุนการใช้ Kubernetes และ Cloud Foundry ร่วมกัน ดังนี้

  1. เพิ่มความเร็วในการสร้าง Node ใหม่
    Container นำเสนอแนวทางในการทำ Virtualization ทรัพยากรส่วนประมวลผลแบบใหม่ซึ่งเร็วกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่า Virtual Machine แบบเก่า โดย Kubernetes เข้ามามีบทบาทเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างที่ยึด Container เป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ Cloud Foundry ใช้บริหารจัดการการวางระบบแอปพลิเคชันผ่าน Container อย่างไรก็ตาม Cloud Foundry สามารถใช้ประโยชน์จาก Kubernetes ในการเริ่ม Node ใหม่ได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขยายระบบในอนาคต นอกจากนี้ การมีพื้นความรู้ Kubernetes มาก่อนช่วยให้เรียนรู้ Cloud Foundry ได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
  2. Cloud Foundry จัดการแอปพลิเคชัน Kubernetes จัดการ Cloud Foundry
    Cloud Foundry ช่วยให้สามารถสร้าง วางระบบ และบริการจัดการ Containers เพื่อให้การพัฒนาแอปพลิเคชันทำได้อย่างง่ายดายและอัตโนมัติ ในขณะที่ Kubernetes เข้ามาครอบ Cloud Foundry อีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้นักพัฒนาสามารถวางระบบและบริหารจัดการ Cloud Foundry ได้ผ่าน Kubernetes ผลลัพธ์คือผู้ใช้ Kubernetes มีเครื่องมือในการบริหารจัดการแอปพลิเคชันอันทรงพลังมาไว้ในมือ
  3. บางสภาพแวดล้อม ผสานการทำงานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
    Cloud Foundry นับว่าเป็นเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการโค้ดโดยยึดแอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลางที่ใช้ได้ผลดีในหลายๆ สภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม Cloud Foundry ก็อาจไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมบางประเภท เช่น การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันบน Cloud ใหม่จาก Microservices หลายๆ รายการที่มีการเก็บข้อมูลถาวรบน Backend ถึงแม้ว่า Cloud Foundry จะสามารถบริหารจัดการ Microservices ได้เกือบทั้งหมด แต่การจัดการกับข้อมูลที่เก็บไว้นั้นใช้ Kubernetes ในการวางระบบ Independent Container จะเป็นทางออกที่ดีกว่า แล้วค่อยนำข้อมูลเหล่านั้นมาผสานรวมกับเว็บแอปพลิเคชันผ่านทาง Cloud Foundry Service Broker ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อม Cloud Foundry และ Kubernetes เข้าด้วยกัน

ที่มา: https://thenewstack.io/kubernetes-and-cloud-foundry-better-together/

ก่อนหน้า

ถัดไป