Top 5 เทรนด์ Cloud Computing แห่งปี 2023

30 ม.ค. 2566

การปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำ Digital Transformation และเป็นตัวขับเคลื่อนเทรนด์เทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT)  การทำงานแบบไฮบริด  เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) โลกเสมือนจริง (Metaverse) การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ (Cloud Gaming) ตลอดจนปรากฏการณ์เชิงควอนตัม (Quantum Computing) และในอีกมุมหนึ่ง ยังเป็นการลดต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขององค์กรอีกด้วย 

Forbes เผยว่า ในปี 2023 นี้ องค์กรต่าง ๆ จะยังคงใช้บริการคลาวด์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร โดยมี 5 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีคลาวด์ ดังนี้

การลงทุนในเรื่อง Cloud Security และ Resilience เพิ่มขึ้น

แม้ว่าการย้ายระบบขึ้นคลาวด์จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กรธุรกิจ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) มากขึ้นด้วย ยิ่งในปัจจุบัน มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนด้าน Cyber security และด้านการสร้าง Resilience ให้กับทุก ๆ สิ่งภายในองค์กรมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการปกป้องการสูญหายของข้อมูล จนถึงการสร้างแผนรับมือผลกระทบจากเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และหากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ขึ้นในอนาคต องค์กรก็อาจมองหานวัตกรรมหรือแนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย

กลยุทธ์ Multi-Cloud กลายเป็นที่นิยม

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีของเทคโนโลยีไฮบริด คลาวด์ ส่วนในปี 2023 นี้ หลาย ๆ ธุรกิจจะเริ่มเล็งเห็นถึงประโยชน์ของ Multi-Cloud  ที่มีทั้งความยืดหยุ่นและความมั่นคงปลอดภัย และยังช่วยป้องกันไม่ให้องค์กรยึดติดอยู่กับระบบนิเวศ (Ecosystem) ของผู้ให้บริการคลาวด์เพียงรายเดียว เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เช่น ผู้ให้บริการคลาวด์หยุดสนับสนุนบริการแอปพลิเคชันสำคัญที่องค์กรใช้บริการอยู่ หรือเกิดเหตุการณ์ระบบล่ม จนทำให้บริการขององค์กรล่มไปด้วย เป็นต้น ดังนั้น การปรับใช้ Multi-Cloud จึงจะเป็นกลยุทธ์ที่นิยมมากขึ้นอย่างแน่นอน

คลาวด์จะถูกขับเคลื่อนด้วย AI / ML 

ปัจจุบัน เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) กลายเป็นบริการที่พบได้ทั่วไปบนคลาวด์ เนื่องจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI จำเป็นจะต้องมีทรัพยากรจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มจัดเก็บข้อมูล (Data Gathering) ที่ต้องมีพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่ ตลอดจนการฝึกฝน (Train) โมเดล AI / ML ให้มีความฉลาดพอที่จะประมวลผล (Computing Power) ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรไม่มากนักที่มีความพร้อมในการทำทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนิยมเช่าใช้บริการ “as-a-Service” ต่าง ๆ นั่นเอง โดยองค์กรจะใช้งานคลาวด์เพื่อพัฒนา AI / ML ขึ้นมา และแม้แต่ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกอย่าง AWS, Google Cloud และ Microsoft Azure เองก็เริ่มปรับใช้ AI / ML กันมากขึ้น เพื่อยกระดับประสิทธิภาพบริการคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการโครงข่ายขนาดใหญ่ การตรวจสอบควบคุมระบบพลังงานไฟฟ้าและความเย็นในดาต้า เซ็นเตอร์ ตลอดจนการช่วยตรวจสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ 

บริการคลาวด์แบบ Low Code / No Code จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

โซลูชันแบบ Low Code / No Code คือเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่จะทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันหรือใช้ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ด เทรนด์นี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ เว็บแอปพลิเคชัน การออกแบบ หรือการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะการสร้างแอปพลิเคชัน AI / ML บนคลาวด์ที่ปีนี้จะเริ่มเห็นในรูปแบบ Low Code/No Code ชัดเจนขึ้น บริการนี้จะช่วยลดอุปสรรคของหลายองค์กรที่ใช้ประโยชน์จาก AI / ML ได้อย่างมาก เพราะนอกจากองค์กรจะไม่จำเป็นต้องลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสามารถเข้าถึงได้บริการผ่าน “as-a-Service” ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถพัฒนา AI / ML ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเขียนโค้ด หรือเขียนน้อยมากอีกด้วย ตัวอย่างบริการในปัจจุบัน เช่น Figma, Airtable หรือว่า Zoho เป็นต้น

Cloud Gaming หรือบริการสตรีมเกมจะมาแรง

เทคโนโลยีคลาวด์ทำให้บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และ Spotify ผงาดขึ้นมาปฏิวัติวงการภาพยนตร์และวงการเพลงไปตลอดกาล แต่บริการสตรีมเกมอาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านโครงข่ายเน็ตเวิร์ก ที่จำเป็นต้องมีแบนด์วิดท์ใหญ่กว่าบริการสตรีมเพลงหรือวิดีโอ

อย่างไรก็ดี การทยอยเริ่มปรับใช้เทคโนโลยี 5G และโครงข่ายความเร็วสูงนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งปี 2023 นี้อาจเป็นปีของ Cloud Gaming ดังที่กูเกิลเคยกล่าวไว้ว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Stadia จะกลายเป็นกระดูกสันหลังในการให้บริการสตรีมเกมแบบ B2B ที่กำลังพัฒนาอยู่ และนั่นจะทำให้นักพัฒนาเกมให้บริการฟังก์ชันสตรีมมิ่งได้โดยตรงกับลูกค้า และหากเป็นไปตามที่คาดไว้ Cloud Gaming นั้นอาจเป็น "Killer App” สำหรับยุค 5G ที่จะนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เหมือนกับที่การสตรีมวิดีโอเป็นจุดขายสำคัญของยุค 4G นั่นเอง

ที่มา : https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2022/10/17/the-top-5-cloud-computing-trends-in-2023/


ก่อนหน้า

ถัดไป